วันเสาร์ที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒

เศรษฐกิจพอเพียงกู้วิถีชีวิตแบบมาม่า

พูดถึงเศรษฐกิจแบบพอเพียง....แม้ คนส่วนใหญ่จะเห็นดีเห็นงามตามกระแส แต่ความหมายที่แท้จริงของเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร?
คนส่วนใหญ่ที่เห็นดีเห็นงาม กลับนึกภาพได้แต่เพียง...ความพอมี พอกิน ไม่ต้องขวนขวาย ไม่ต้องทะเยอทะยาน ไม่คิดรวย
แต่คนที่รู้ลึก รู้ซึ้งในเศรษฐกิจแบบพอเพียง อย่าง นายสงวน มงคลศรีพันเลิศ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาปศุสัตว์ ปี 2548 ผู้นำเกษตรกรบ้านเขากลม ต.หนองทะเล อ.เมือง จ.พังงา กลับมองตรงกันข้าม
หลังจากนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิตมาตั้งแต่ปี 2540
นายสงวน พบว่า การขวนขวาย ความทะเยอทะยาน และทำให้ได้มากกว่าพอมีพอกิน ไม่ใช่การงอมืองอเท้ารอแต่ความช่วยเหลือ ไม่ต่างจากเศรษฐกิจ แบบทุนนิยมแต่อย่างใด
จะมีความแตกต่างในหลักการสำคัญ...ตรงการขวนขวาย ความทะเยอทะยาน การทำมาหากินให้ได้มากกว่าพอมีพอกิน
จะต้องเกิดจากการพึ่งพาตนเองให้ได้เสียก่อน
“เศรษฐกิจพอเพียงจะบรรลุผลก็ต่อเมื่อเราจะต้องคิดเองเป็น ทำเองได้ และพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด เมื่อนั้นแหละรายได้ของเราจะพอกพูน หลักการนี้สามารถนำไปใช้ได้กับทุกอาชีพ ไม่ใช่เกษตรกรอย่างเดียว”
ที่ผ่านมา ชีวิตคนไทยคิดทำโน่นทำนี่แบบไม่พอเพียง คิดใหญ่คิดโตคิดรวยทางลัดแบบหวังพึ่งคนอื่น แถมยังคิดเองไม่เป็น คิดแต่ทำตามคนอื่น... ความสำเร็จจึงไม่เกิด
สิ่งที่เกิดตามมาก็คือหนี้สินรุงรัง
“ความจริงแล้วเกษตรกรไทย คนไทยนั้นมีความสามารถ มีองค์ความรู้ เกี่ยวกับการประกอบอาชีพต่างๆมีมากมาย เพียงแต่เราลืม เราไม่เอาความรู้ ดั้งเดิมมาประยุกต์ใช้ คิดเองไม่เป็น ทำตามที่คนอื่นคิดให้ทั้งนั้น”
ทำให้ชีวิตคนไทยไม่ต่างอะไรกับมาม่า หรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
วิถีชีวิตแบบมาม่า ในความหมายของ นายสงวน คืออะไร?
ทำตามที่คนอื่นเขาขีดเส้นบอกให้ทำ...ทางการส่งเสริมสั่งให้ปลูก ให้ เลี้ยงอะไร ก็ทำตามเขา เขาบอกให้ใส่ปุ๋ยเคมีแล้วดีก็เชื่อเขา เลี้ยงสัตว์ต้องเลี้ยงด้วยอาหารสัตว์ อาหารเสริมแล้วจะดี ก็ควักเงินซื้อตามที่เขาบอก
ที่บ้านเขากลมนี่ก็เช่นกัน เดิมทีก็ใช้ชีวิตกึ่งสำเร็จรูปแบบมาม่า ผลสุดท้ายชีวิตที่ทำมามีแต่หนี้...ทำมาหากินเพื่อใช้หนี้เป็นหลัก
นายสุกิติ พรหมทอง ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ การเกษตร สาขากระบี่ เผยตัวเลขภาวะหนี้สินของเกษตรกรที่บ้านเขากลม ซึ่งมีทั้งสวนปาล์ม เลี้ยงทั้งแพะ อุตส่าห์ขยันทำมาหากิน พวกเขากลับมี รายได้ติดลบ
เฉลี่ยแล้วคนในหมู่บ้านนี้มีหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบตกครอบครัวละ 100,000 บาทต่อปี
สาเหตุมาจากมีค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนในการผลิตสูงมาก
เพราะปัจจัยในการผลิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ย อาหารสัตว์ ยา สารเคมี ต้องพึ่งพาการซื้อหาจากพ่อค้ามากถึง 85%
สิ่งที่ไม่ต้องซื้อหามีอยู่อย่างเดียวนั่นคือ น้ำฝนจากฟ้า
ต้นทุนสูงไม่พอ ปาล์มน้ำมันที่ปลูกไว้ได้ผลผลิตออกมา เอาไปขายพ่อค้ายังกดราคารับซื้อเสียอีก
แต่พอเลิกวิถีชีวิตแบบมาม่า หันมายึดหลักเศรษฐกิจแบบพอเพียงตามแนวพระราชดำริ...พึ่งพาตนเองเป็นหลัก คิดเองเป็น ทำเองได้
ปุ๋ยทำเอง อาหารสัตว์ทำเอง หลายอย่างก็เปลี่ยนไป
เริ่มจากการเลี้ยงแพะ...เลี้ยงแบบง่ายๆ เลี้ยงแบบปล่อยทุ่งให้กินหญ้า มองแบบผิวเผินไม่เห็นต้องใช้ความคิดอะไรเลย
“เลี้ยงแพะมีปัญหาไม่น้อย เลี้ยงแบบปล่อยทุ่งให้กินหญ้าตามมีตามเกิด ปัญหาอันดับแรก เลี้ยงไม่ดู ไม่แล ไม่เฝ้า แพะไปเหยียบย่ำ กิน ทำลายพืชผักของเพื่อนบ้าน เราก็จะมีปัญหาทะเลาะกับเพื่อนบ้าน
ปัญหาอันดับต่อมา หญ้ามีไม่พอให้แพะกิน เนื่องจากที่ดินมีจำนวนเท่าเดิม แต่จำนวนประชากรนั้นเพิ่มขึ้นทุกวัน พื้นที่ให้ หญ้าขึ้นมีน้อย ครั้นจะซื้อที่ดินมาปลูกหญ้าเลี้ยงแพะ ที่พังงา ทำเลดี ใกล้ทะเล เมืองท่องเที่ยว ราคาถูกสุดไร่ละ 8 แสนบาท เอามาปลูกเลี้ยงแพะไม่คุ้ม
อีกปัญหาที่มองข้ามไม่ได้ เรื่องแรงงาน เลี้ยงแพะปล่อยทุ่งต้องมีคนเฝ้า เสียเวลาทั้งวัน แทนที่จะมีเวลาว่างไปทำงานหารายได้อย่างอื่นมาเสริมก็ทำไม่ได้ คนเลี้ยงแพะเกิดไม่สบาย ให้คนอื่นไปทำแทน แพะหาย ต้อนกลับมาไม่ครบ”
นายสงวน ชี้ให้เห็นปัญหาง่ายๆของการจัดการเลี้ยงแพะ...ปัญหาสำคัญยิ่งยวดอันดับหนึ่ง หญ้ามีไม่เพียงพอให้แพะ
จะทำให้พอเพียงซื้ออาหารข้น อาหารเสริมมาเลี้ยงแพะ ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง ทำไปก็มีแต่หนี้
“จากการใช้ความรู้แบบพื้นๆ ชาวบ้านสังเกตเห็น แพะมักจะไปเล็มกินทางใบปาล์มอยู่เสมอ เพื่อแก้ปัญหาหญ้าไม่พอเพียง เราก็เอาทางใบปาล์มที่มีอยู่เต็มไปหมด และเป็นปัญหากับเจ้าของสวนที่จะต้องตัดและเอาไปทิ้ง มาทดลองสับให้แพะกิน
ปรากฏว่าแพะก็กินได้ ไม่มีปัญหา”
นี่เป็นการคิดเองเป็นขั้นที่ 1...ได้ทั้งอาหารสัตว์และได้ทั้งแก้ปัญหาไม่รู้จะเอาทางปาล์มไปทิ้งที่ไหน
คิดขั้นต่อไป...ผลผลิตปาล์มน้ำมัน เอาผลปาล์มไปขาย พ่อค้ามักจะกดราคา รับซื้อราคา กก.ละ 1.50-2 บาท ไม่ขายก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร จำใจต้องขายแบบขาดทุน
คิดเอาผลปาล์มมาทำอาหารแพะ บดสับผสมปนกับทางใบปาล์มสับ... คราวนี้อาหารแพะไม่ได้มีแต่ไฟเบอร์เท่านั้น
แพะยังได้ไขมัน ได้โปรตีนจากผลปาล์มอีกด้วย
ขวนขวายหาความรู้ คิดสูตรทำอาหารสัตว์จากปาล์มหมักแบบชีวภาพ ไม่ใส่สารเคมีขายได้ กก.ละ 8 บาท เพิ่มมูลค่าให้ปาล์มน้ำมัน...ได้ทั้งอาหารคุณภาพไว้เลี้ยงแพะเอง และขายให้เกษตรกรจากที่อื่น
ได้ทั้งลดต้นทุน และได้ทั้งเงินเพิ่มเข้ากระเป๋า
ได้อาหารแพะไม่ต้องเลี้ยงแบบปล่อยทุ่ง...เอามาเลี้ยงในคอก คนเลี้ยงมีเวลาว่างทำงานหารายได้อย่างอื่นเสริมได้อีก
ลูกหลานยังสามารถช่วยเลี้ยงได้ ก่อนไปโรงเรียนเทอาหารใส่ราง กลับจากโรงเรียนก็เทอาหารใส่ราง
เอามาเลี้ยงในคอก มีปัญหาแพะตัวผู้มักจะนอนคลุกเล่นปัสสาวะของแพะกันเอง แพะจะเหม็นสาบขายไม่ได้ราคา
ต้องคิดแก้ปัญหาอีกขั้น
เอาความรู้เศรษฐกิจพอเพียงมาใช้...เอาเศษอาหาร เศษผลไม้มาทำน้ำหมักชีวภาพ ทดลองใช้ราดรดคอก รวมทั้งผสมน้ำให้แพะดื่มกิน
ปรากฏว่าได้ผล...น้ำหมักชีวภาพใช้แก้ปัญหาแพะเหม็นสาบสางได้
แพะเลี้ยงในคอก ขี้แพะอยู่เป็นที่เป็นทาง กวาดเก็บมาผสมรวมกับเศษทางใบปาล์ม ทำเป็นปุ๋ยหมัก หวนคืนกลับไปใส่ต้นปาล์ม...ช่วยลดต้นทุนการซื้อปุ๋ยได้อีก
คิดเอาสิ่งที่มีอยู่รอบตัวมาใช้ประโยชน์เพียงพอ คงไม่ต้องบอกว่า วันนี้คนที่บ้านเขากลมเป็นอยู่กันยังไง แฮปปี้แค่ไหน
หวนคืนสู่วิถีดั้งเดิม แต่ไม่ใช่แบบเดิม...เพียงแค่ลดการพึ่งพาสินค้าของนายทุนให้น้อยลงเท่านั้น
สิ่งสำคัญที่สุดของเศรษฐกิจพอเพียง นายสงวน ย้ำว่า การคิดเอง ทำเองได้ พึ่งตัวเองให้มากที่สุด ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป...อย่าทำอะไรหวือหวา
เห็นว่าตัวเองคิดได้ ทำเป็น ก็อย่าทุ่มทำให้มากจนเกินไป เพราะการผลิตคิดทำเกินความพอเพียง เกินความต้องการของตลาด
สุดท้ายความหวือหวาเกินความพอเพียง จะหันมาทำร้ายให้คุณเป็นหนี้ล้นพ้นเหมือนเดิม
รวยแบบค่อยเป็นค่อยไป...ปลอดภัยกว่าหวังรวยเล่นหวย เล่นหุ้น.

ไม่มีความคิดเห็น: