วันจันทร์ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒

จดกันจน

คุณรึเปล่า ที่ตลอดปีที่ผ่านมา ตั้งท่าว่าจะลงมือทำงบประมาณส่วนบุคคลมาแล้วหลายครั้ง แต่จนแล้วจนรอดแผนนี้ก็ล่มไม่เป็นท่า เพราะมัวแต่ผัดวันประกันพรุ่ง ถ้าอย่างนั้น ให้วันนี้เป็นวันสุดท้ายของการผัดวันประกันพรุ่งเถอะ ตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป ซึ่งเป็นวันแรกของปี ขอให้คุณเริ่มต้นปีใหม่ ชีวิตใหม่ ด้วยการมีงบประมาณส่วนบุคคลเป็นของตัวเองเสียที
หลายคนบอกไม่รู้จะเริ่มต้นจากตรงไหนดี บันทึกและจดอะไรบ้าง ไปจนถึงจัดหมวดหมู่อย่างไรดี เรื่องวันนี้ ขอหยิบแนวทางและวิธีการในการทำงบประมาณส่วนบุคคลฉบับคร่าวๆ มานำเสนอ เผื่อว่าจะเป็นแนวทางให้คุณได้ลงมือทำอย่างจริงจังสักที

*************
บอกลาความขัดสนทางการเงินไปได้เลย ถ้าคุณเริ่มมีงบประมาณส่วนบุคคลเป็นของตัวเอง ก็อย่างที่รู้กันว่าความสำคัญของการจัดทำงบประมาณส่วนบุคคล นั้นจะช่วยป้องกันการเกิดความขัดสนทางการเงินได้อย่างยอดเยี่ยม และไม่ว่าคุณจะอยู่ในสถานภาพไหน วัยไหน หรือเพศไหนก็ตาม คุณก็สามารถที่จะทำงบประมาณส่วนบุคคลได้ในแบบและสไตล์ของคุณ
เช่น ในกรณีที่คุณแต่งงานมีครอบครัวแล้ว การตัดสินใจจัดการกับรายได้ที่มีอยู่ ควรเป็นโครงการร่วมกันระหว่างคุณและคู่ชีวิต การจัดสรรรายจ่ายชนิดใดเป็นจำนวนมากน้อยเท่าใด ควรคำนึงถึงรายจ่ายอื่นๆ ที่คุณจะต้องใช้จ่ายจากเงินรายได้ของคุณ และอธิบายถึงการเกิดรายจ่ายและการจัดการรายจ่ายนั้นๆ ไว้อย่างชัดเจน เพื่อที่คุณจะได้จัดทำงบประมาณส่วนบุคคลของคุณทั้งคู่ไปได้ตลอดรอดฝั่ง
อาจจะแยกหรือทำงบรวมกันก็ได้ แต่ขอให้ทำอย่างมีวินัย ดร.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ เป็นอีกคนหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการ "จดบัญชีรับจ่าย" มาแต่ไหนแต่ไร เรียกว่า ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจปีหนึ่ง จนกระทั่งเมื่อแต่งงานมีครอบครัว เขาก็บอกกับภรรยาถึงประโยชน์ของการจดบันทึกรายรับรายจ่ายต่อการใช้ชีวิตคู่ เขายอมรับว่าข้อดีของการจด ทำให้เรารู้หมดว่ามีรายรับและรายจ่ายเท่าไหร่ ติดลบหรือไม่ ท้ายสุดทำให้สามารถวางแผนการเงินได้
แต่เหนืออื่นใด ไม่ว่าบัญชีรับจ่ายของคุณจะหน้าตาออกมาเป็นอย่างไร แต่อย่างหนึ่งควรจะมี คือการกำหนดเงินสำรองรายจ่ายส่วนบุคคลขึ้นไว้จำนวนหนึ่ง เพื่อเก็บไว้ใช้จ่ายในจำนวนที่คุณและคู่ชีวิตเห็นว่าเหมาะสม โดยรายจ่ายจำนวนนี้เป็นรายจ่ายนอกเหนือจากรายจ่ายตามปกติ เพื่อที่ว่าคุณและคู่ชีวิตจะได้มีอิสระในการใช้จ่าย โดยไม่ต้องถูกบังคับให้มีการจัดการทางการเงินเฉพาะเพียงรายการที่กำหนดไว้ในงบประมาณเท่านั้น
แต่เมื่อลงมือทำแล้ว ก็ควรเก็บรักษาบันทึกทางการเงินทั้งส่วนที่เป็นรายได้ และส่วนที่เป็นรายจ่ายไว้เป็นอย่างดี เพราะรายการรายจ่ายบางรายการอาจเป็นรายการสำคัญ เช่น รายการการเสียภาษี ก็ควรมีการแยกรายการโดยแสดงรายละเอียดไว้ต่างหากโดยเฉพาะ หรือรายจ่ายที่ไม่มีหลักฐานใบเสร็จรับเงิน ควรมีการบันทึกไว้ให้ถูกต้อง เพราะการบันทึกรายการที่ผิดพลาดจะมีผลกระทบถึงการทำงบประมาณในปีต่อๆ ไปได้
@จัดหมวดหมู่แหล่งรายได้
ขั้นตอนแรกในกระบวนการทำงบประมาณส่วนบุคคล คือ การจัดหมวดหมู่ของแหล่งที่มาของรายได้เข้าไว้ด้วยกัน ตัวอย่าง การบันทึกแหล่งที่มาของรายได้ สามารถจัดทำเป็นตาราง แบ่งเป็นเงินเดือน โบนัส ค่าเช่า เงินปันผล หรือรายได้พิเศษอื่นๆ แยกอย่างชัดเจน
จะเห็นว่า แหล่งที่มาของรายได้โดยปกติ มักจะหนีไม่พ้นรายการต่อไปนี้ คือ รายได้จากการทำงานตามลักษณะอาชีพ หรืองานพิเศษนอกเหนือจากงานอาชีพประจำ รายได้จากดอกเบี้ยตามบัญชีเงินฝากประเภทต่างๆ ในธนาคาร รายได้เงินปันผล ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล เงินโบนัสประจำปี
ในทางปฏิบัติแล้วอาจมีรายได้ประเภทอื่นนอกเหนือจากรายการข้างต้นได้อีก อย่างไรก็ตาม วิธีการที่ง่ายที่สุดในการจัดหมวดหมู่ของประเภทรายได้ก็คือ การทำบันทึกเป็นกระดาษทำการแนบไว้กับงบประมาณแสดงแหล่งที่มาของรายได้ในแต่ละรอบระยะเวลาเอาไว้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวางแผนและเปรียบเทียบรายการรายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
จากนั้น ก็คำนวณผลรวมเฉพาะรายได้สุทธิที่ได้รับอยู่จริงเท่านั้น กล่าวคือ คุณอาจจะมีรายได้ตามบัญชีเงินเดือนเป็นเดือนละ 30,000 บาท แต่รายได้ที่ท่านได้รับจริงสุทธิเป็นเพียง 27,000 บาทเท่านั้น ส่วนแตกต่าง 3,000 บาทนี้เป็นรายจ่ายที่นายจ้างหักไว้เป็นค่าภาษี ค่าประกันสังคม ออมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ออมผ่านสหกรณ์ออมทรัพย์ของบริษัท ค่าเงินสวัสดิการต่างๆ ภายในสถานที่ทำงาน จำนวนรายได้ที่คุณจะใส่ไว้ในงบประมาณจะเป็นเพียงจำนวน 27,000 บาท ไม่ใช่เป็นจำนวน 30,000 บาท
คุณอาจไม่พอใจในการถูกหักเงินจำนวน 3,000 บาทนี้ไว้ เพราะทำให้มีเงินที่จะใช้จ่ายน้อยลง อย่างไรก็ตาม ถ้าหน่วยงานของคุณไม่มีนโนบายในการจัดหาสวัสดิการดังกล่าวข้างต้นไว้เพื่อความปลอดภัยทางการเงินแล้ว คุณก็ไม่ควรที่จะลืมกันเงินสำรองเพื่อการนี้ไว้ในงบประมาณของคุณเองด้วย เพราะรายจ่ายดังกล่าวจะเป็นรายจ่ายที่คุณไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้เลย
ถ้าไม่แน่ใจว่ารายได้ที่จะได้รับ เป็นจำนวนที่แน่นอนเท่าใดแล้ว ให้คุณลองประมาณวงเงินในจำนวนที่น้อยที่สุดที่คิดว่าจะได้รับไว้ก่อน เพื่อว่าเมื่อประมาณรายจ่ายเพียงภายในวงเงินรายได้ที่มีอยู่แล้ว ต่อมาในภายหลังที่ได้รับรายได้เพิ่มขึ้น จะทำให้คุณมีเงินคงเหลือเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาการทำงบประมาณเพิ่มขึ้น ก็ย่อมเป็นการดีกว่าที่จะประมาณวงเงินที่คาดว่าจะได้รับไว้สูง ทั้งๆ ที่ไม่แน่ใจว่ารายได้นั้นจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่
@คำนวณตัวเลขรายได้จำนวนใหม่
เมื่อถึงรอบระยะเวลาการขึ้นเงินเดือนประจำปี เช่น ถ้าคุณเป็นข้าราชการจะได้รับการพิจารณาให้เลื่อนขั้นเงินเดือนในราวเดือนกรกฎาคม- สิงหาคม หรือพนักงานบริษัทอาจจะเป็นเดือนตุลาคม แต่เงินเดือนใหม่จะได้รับเมื่อสิ้นเดือนตุลาคม หรือหากทำงานในบริษัทเอกชนท่านอาจได้รับเงินเดือนใหม่ในระหว่างปีได้ถ้าท่านมีความดีความชอบพิเศษ
ในกรณีเช่นนี้ ก็จะมีรายจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้นตามไปด้วย การคำนวณรายได้ภายหลังการหักภาษีให้ถูกต้องและจัดการเพิ่มรายได้ไว้งบประมาณให้เรียบร้อย จะเป็นประโยชน์ในการจัดสรรรายจ่ายบางรายการให้เพิ่มขึ้นตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่รายการภาษีที่คุณคำนวณขึ้น อาจเป็นรายจ่ายที่ได้รับกลับคืนในภายหลัง ช่น รายการคืนภาษีเนื่องจากมีการคำนวณไว้ในระหว่างปีผิดพลาด การลงทุนที่มีสิทธิได้รับคืนภาษี การเปลี่ยนแปลงนโยบายภาษีของรัฐบาล ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม รายการดังกล่าวอาจไม่มีผลทำให้งบประมาณเปลี่ยนแปลงได้เท่าใดนัก แต่ก็ยังเป็นการดีกว่าที่จะมีรายการรายจ่ายเพิ่มขึ้นโดยไม่คาดฝัน แม้ว่ารายจ่ายนั้นจะเป็นจำนวนเงินที่ไม่มากก็ตาม
@ประมาณรายได้ต่ำที่สุด-รายจ่ายสูงไว้ก่อน
หลักเกณฑ์สำคัญในการทำงบประมาณ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดการทางการเงิน คือ การประมาณรายได้ไว้ในจำนวนที่ต่ำที่สุดที่คิดว่าควรจะเป็น และประมาณรายจ่ายไว้ค่อนข้างสูงภายในวงเงินรายได้ที่คุณมีอยู่ เพื่อที่ว่าเมื่อเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น จะได้สามารถแก้ไขสถานการณ์ทางการเงินได้ดีกว่าการประมาณรายได้ไว้สูง หรือการประมาณรายจ่ายไว้ต่ำเกินไป จนไม่สามารถจะปรับงบประมาณของคุณได้เลย เมื่อมีความจำเป็นจะต้องมีรายจ่ายรายการใดรายการหนึ่งสูงกว่างบประมาณที่วางไว้
ยิ่งถ้าอาชีพของคุณก่อให้เกิดรายได้ที่ไม่แน่นอน เช่น นักแสดง นักเขียน นักมวย พนักงานขาย นายหน้า สถาปนิก ฯลฯ รายได้ของคุณจะได้รับไม่สม่ำเสมอเป็นประจำทุกเดือนเหมือนพวกข้าราชการประจำ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานในบริษัทห้างร้านต่างๆ เพราะแม้ว่าคุณจะทำงานเสร็จแล้ว แต่คุณก็ยังอาจจะไม่ได้รับเงินค่าจ้างทันที การทำงบประมาณรายจ่ายของคุณจึงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก และจะต้องมีการประมาณที่ถูกต้อง โดยพิจารณาจากจำนวนผลงานที่เกิดขึ้นก่อนที่จะได้รับเงินค่าจ้าง และการประมาณรายได้ประจำเดือนกระทำได้โดยการหารรายได้ต่อปีที่ประมาณขึ้นด้วย 12 เพราะรายรับในแต่ละปีอาจแตกต่างกันได้ ขึ้นกับความสามารถและความมีชื่อเสียงของคุณเอง
@จดค่าใช้จ่าย
สำหรับในส่วนของค่าใช้จ่ายนั้น เพื่อที่จะควบคุมการใช้จ่ายให้เกิดความสมดุลขึ้น วิธีการที่ดีที่สุด คือ การจดว่ารายการรายจ่ายทั้งหมดของท่านมีรายการใดบ้าง และเป็นรายจ่ายประเภทใด จำนวนเท่าใด พร้อมทั้งจัดประเภทของรายจ่ายต่างๆ ไว้เป็นกลุ่มเดียวกัน เช่น กลุ่มรายจ่ายประจำ กลุ่มรายจ่ายแปรได้หรือกลุ่มรายจ่ายกึ่งประจำกึ่งแปรได้ เพราะรายจ่ายกลุ่มแปรได้จะเป็นรายจ่ายที่คุณควรให้ความสนใจมากกว่ารายจ่ายประเภทอื่น เนื่องจากสามารถเลื่อนกำหนดการใช้จ่ายไปได้มากกว่าการเป็นรายจ่ายประจำ หรือรายจ่ายกึ่งประจำกึ่งแปรได้
ภายหลังจากที่คุณได้แจกแจงและจัดกลุ่มประเภทรายจ่ายขึ้นแล้ว ขั้นต่อไปคือ การหาค่าร้อยละของรายจ่ายทุกรายการว่ารายจ่ายต่างๆ เหล่านั้นมีการใช้จ่ายคิดเป็นร้อยละเท่าใดของรายได้ที่มีอยู่ คุณควรตระหนักไว้เสมอว่าเมื่อท่านมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น สิ่งที่ควรกระทำต่อไปคือ การนำเงินส่วนที่เหลือไปลงทุนทางใดทางหนึ่งที่จะทำให้มีผลตอบแทนมากขึ้นจากการลงทุนนั้นๆ
วิธีการที่ง่ายและดีที่สุดในการจัดทำงบประมาณส่วนบุคคล คือ การย้อนไปวิเคราะห์ถึงรายจ่ายที่เกิดขึ้นในปีก่อนๆ เพื่อดูถึงลักษณะนิสัยในการใช้จ่ายของคุณ เพราะรายการต่างๆเหล่านั้นจะบ่งบอกถึงรายจ่ายรายการหลักที่ควรจัดให้มีไว้ในงบประมาณได้เป็นอย่างดี
"อัจฉริยา สินรัชตานันท์" ดีเจและพิธีกรสาว เป็นอีกคนหนึ่งที่เริ่มจดบันทึกรายรับรายจ่ายในเอ็กเซลชีทมาตั้งแต่เรียนอยู่ต่างประเทศ นั่นจึงทำให้เห็นว่าเดือนนี้ค่าใช้จ่ายอะไรเยอะผิดปกติ เช่นช่วงหนาวค่าไฟก็จะแพง พอกลับมาเมืองไทยเลยติด จากตอนแรกจดแบบคร่าวๆ ทั่วไป แต่เราก็รู้สึกว่าเรามีพื้นฐานเรื่องบัญชี เราน่าจะทำเป็นกิจจะลักษณะ ก็เอารายได้มารวมกัน ค่าใช้จ่ายมารวมกันก็เลยกลายเป็นงบดุลย่อยๆ
ยังไม่หมดเท่านั้น แต่เมื่อรวมค่าใช้จ่ายออกมาเป็นก้อนแล้ว อัจฉริยาบอกว่าเธอยังแยกให้เห็นว่าเป็นค่าใช้จ่ายอะไร เท่าไหร่ เพื่อที่จะได้รู้รายละเอียด จึงแบ่งเป็นหมวดๆ ไป เช่น หมวดเอ็นเตอร์เทนเมนท์ หมวดเบี้ยประกัน หมวดเสื้อผ้า หมวดเครื่องประดับ หมวดสปาและความงาม หมวดดูแลรถ หมวดเทคโนโลยี หมวดค่าดูแลบ้าน หมวดค่าทำบุญ หมวดซูเปอร์มาร์เก็ต เรียกว่าเรียงจาก A-Z จากนั้นก็เทียบออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์
"พอทำออกมาเราก็จะรู้ว่า อ๋อ เดือนนี้เราซื้อเสื้อผ้าเยอะไปแล้ว หรือค่าซูเปอร์มาร์เก็ตปูดไป เราก็จะระวังตรงนั้น ทำให้เราใช้จ่ายอย่างรู้ตัวตลอด"
@การทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี
ในรายการรายจ่ายประจำปี อาจแยกเป็นประเภทรายจ่ายได้ 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ"รายจ่ายประจำ" ซึ่งเป็นรายจ่ายที่เป็นภาระผูกพันและมีรอบระยะเวลาการจ่ายสม่ำเสมอตลอดไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง และ"รายจ่ายแปรได้" ซึ่งจะเป็นรายจ่ายประเภทสำคัญ แต่จะเป็นรายจ่ายที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยไม่คาดฝันหรือเป็นรายจ่ายที่ได้มีการตั้งงบประมาณไว้ว่า อาจจะมีการจ่ายเกิดขึ้นในวันใดวันหนึ่งในอนาคต
เช่น รายจ่ายค่าบำรุงซ่อมแซมรถ รายจ่ายพักผ่อนหย่อนใจในวันหยุดประจำปี เงินบริจาคการกุศล รายจ่ายเพื่อซื้อทรัพย์สินทดแทน เช่น วิทยุ โทรทัศน์สีเครื่องใหม่ เป็นต้น รายจ่ายต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นรายจ่ายที่สามารถจะเลื่อนกำหนดการจ่ายออกไปได้ หรืออาจเป็นรายการที่ไม่ต้องมีการจ่ายเลยก็เป็นได้ ถ้าคุณยังไม่มีความจำเป็นรีบด่วนที่จะต้องใช้จ่ายในเดือนหรือปีนั้นๆ และมีรายจ่ายรายการอื่นในงบประมาณที่มีความสำคัญและมีความจำเป็นมากกว่าเกิดขึ้น
และ "รายจ่ายกึ่งประจำกึ่งแปรได้" หมายถึง รายจ่ายที่มาสามารถจะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการใช้จ่ายได้เลย ถึงแม้ว่ารายการเหล่านี้จะเป็นรายจ่ายที่เกิดขึ้นเป็นประจำก็ตาม แต่จำนวนเงินในแต่ละรอบระยะเวลามักเป็นจำนวนที่ไม่แน่นอน เช่น ในระหว่างเดือนมีนาคม - เมษายนซึ่งเป็นฤดูร้อน รายจ่ายค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปามักจะมีจำนวนสูงกว่ารายการที่เกิดขึ้นระหว่างเดือนธันวาคม-มกราคม ซึ่งเป็นฤดูหนาว หรือรายการค่าโทรศัพท์ในเดือนที่มีวันหยุดงานมากจะมีจำนวนสูงกว่ารายการที่มีวันหยุดงานน้อย
สำหรับคนไม่อยากคบหากับความขัดสน "จดกันจน" เข้าไว้ ปีใหม่ปีนี้จะได้ เป็นคนสุขภาพการเงินดีอีกคนหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น: