วันอังคารที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

หนุนเกษตรกรปลูก 'มะเขือเทศราชินี' ป้อนตลาด...

ขณะนี้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตร กรรม (ส.ป.ก.) ส่งเสริมเกษตรกรใน เขตปฏิรูปที่ดินพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ นครสวรรค์ นครปฐม ให้ปลูกมะเขือเทศราชินีและแตงแคนตาลูปในรูปแบบคอนแทร็กฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) เพื่อป้อนผลผลิตเข้าสู่ตลาดซึ่งกำลังมีความต้องการสูง ทั้งตลาดโมเดิร์นเทรดและตลาดทั่วไป ซึ่งผู้บริโภคนิยมรับประทานมะเขือเทศราชินีผลสดเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ทั้งยังใช้เป็นส่วนประกอบของสลัดและเป็นของว่างด้วย

ส.ป.ก. คัดเลือกพื้นที่ปลูกที่เหมาะสมนำร่อง กว่า 50 ไร่ในจังหวัดเพชรบูรณ์และนครสวรรค์และเร่งคัดเลือกเพิ่มเติมอีกเพื่อให้มีพื้นที่ปลูกหมุนเวียน 300-500 ไร่/ปี เกษตรกรประมาณ 300-500 ราย ซึ่งจะทำให้ได้ผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการของตลาด ในรอบ 1 ปี เกษตรกรสามารถที่จะปลูกมะเขือเทศราชินีได้ถึง 3 รอบการผลิต ต้นทุนประมาณ 15,000 บาท/ไร่ หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วคาดว่า เกษตรกรจะมีกำไรเหลือ 7,000-10,000 บาท/ไร่

หลังปลูกมะเขือเทศราชินีประมาณ 90 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจำหน่ายได้ โดยให้ผลผลิตเฉลี่ย 2,000-4,000 กิโลกรัม/ไร่ ขึ้นอยู่กับระบบการจัดการแปลงของเกษตรกร สำหรับแตงแคนตาลูปมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 35,000 บาท/ไร่ หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วเกษตรกรจะมีกำไรเหลือประมาณ 20,000-30,000 บาท/ไร่ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นทางเลือกสำหรับการสร้างอาชีพของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งจะทำให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชนบทและช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนด้วย

กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า มะเขือเทศราชินีเป็นผลไม้ไทยที่มีสารเบต้าแคโรทีน วิตามิน ซี และวิตามินอีสูง ซึ่งเป็นกลุ่มของสารอาหาร ที่ช่วยกำจัดอนุมูลอิสระที่ก่อให้ร่างกายเกิด การอักเสบทำลายเนื้อเยื่อโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะ เบต้าแคโรทีนจะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ในร่างกาย ช่วยยับยั้งการกลายพันธุ์ในเซลล์ ป้องกันเนื้องอก ลดความเสี่ยงการเป็นต้อกระจก มะเร็งและหัวใจได้ ดังนั้น จึงควรรับประทานผลไม้ดังกล่าว เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเอง

นางนัทยา จงใจเทศ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการทำวิจัย “องค์ความรู้เรื่องปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระในผลไม้เพื่อส่งเสริมสุขภาพ (วิตามินซี วิตามินอี และ เบต้าแคโรทีน) ในผลไม้” ที่ทำการศึกษาในผลไม้ 83 ชนิด พบว่า ผลไม้ 10 อันดับแรกที่มีเบต้าแคโรทีนสูงคือ มะม่วงน้ำดอกไม้สุก มะเขือเทศราชินี มะละกอสุก กล้วยไข่ มะม่วงยายกล่ำ มะปรางหวาน แคนตาลูปเนื้อเหลือง มะยงชิด มะม่วงเขียวเสวยสุก และสับปะรดภูเก็ต

ผลไม้ทั้งหมดนี้มีเนื้อสีเหลืองและสีเหลืองเข้ม ส่วนผลไม้ที่ไม่มีเบต้าแคโรทีนเลย อาทิ แก้วมังกร มะขามเทศ มังคุด ลิ้นจี่ และสาลี่ เป็นต้น ส่วน 10 อันดับแรกของผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงคือ ฝรั่งกลมสาลี่ ฝรั่งไร้เมล็ด มะขามป้อม มะขามเทศ เงาะโรงเรียน ลูกพลับ สตรอเบอรี่ มะละกอสุก ส้มโอขาวแตงกวาและพุทราแอปเปิ้ล

“วิตามินอีมีในผลไม้ไม่มากนัก เพราะผลไม้ไม่ใช่แหล่งของวิตามินอี การศึกษานี้พบ ผลไม้ที่มีวิตามินอีสูง 10 อันดับแรกคือ ขนุน หนัง มะขามเทศ มะม่วงเขียวเสวยดิบ มะเขือเทศราชินี มะม่วงเขียวเสวยสุก มะม่วงน้ำดอกไม้สุก มะม่วงยายกล่ำสุก แก้วมังกรเนื้อสีชมพู สตรอเบอรี่และกล้วยไข่” นางนัทยา กล่าว

ทั้งนี้ ผลไม้ประเภทเดียวกันแต่สีไม่เหมือนจะมีไม่เท่ากัน เช่น แคนตาลูปเนื้อสีเหลืองมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระโดยเฉพาะเบต้าแคโรทีน มากกว่าแคนตาลูปเนื้อสีเขียว นอกจากนี้พบว่า ผลไม้ที่มีเบต้าแคโรทีน วิตามินซี และวิตามินอีน้อยทั้ง 3 ตัว คือ สาลี่ องุ่น และแอปเปิ้ล ส่วนผลไม้ที่มีสารทั้ง 3 ตัว ค่อนข้างสูงคือ มะเขือเทศราชินี

สำหรับเบต้าแคโรทีน วิตามินซีและอี เป็นกลุ่มของสารอาหารที่ช่วยกำจัดอนุมูลอิสระ ตัวก่อให้ร่างกายเกิดการอักเสบ ทำลายเนื้อเยื่อ เกิดต้อกระจกในผู้สูงอายุ โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด สารทั้ง 3 ตัว โดยเฉพาะเบต้าแคโรทีนจะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ยับยั้งการก่อกลายพันธุ์ ป้องกันเนื้องอก ลดความเสี่ยงการเป็นต้อกระจก มะเร็งและหัวใจได้

จึงควรรับประทานผลไม้ในปริมาณมากพอสมควรทุกวัน หรืออย่างน้อยวันละ 4 ส่วนของอาหารที่รับประทาน.

วันพุธที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

3 ห่วง 2 เงื่อนไข กุญแจความพอเพียง

อยากให้เชื่อมั่นว่า...แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จะทำให้คนไทยผ่านพ้นระบบเศรษฐกิจปัจจุบันที่ผันผวนไปได้

สุรชัย มรกตวิจิตรการ หรือ เฮียแดง เกษตรกรตัวอย่างตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ต.บ้านโป่ง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ บอกว่า แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง... หลายคนยังสับสน เข้าใจว่าใช้ได้เฉพาะเกษตรกร ทำการเกษตร เลี้ยงกบ เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่

“ความจริงไม่ใช่...” เฮียแดง ว่า “แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทางของในหลวง มีหลักใหญ่อยู่ 3 ส่วน กับ 2 เงื่อนไข...หากน้อมรับไปใช้ในครอบครัว ชุมชน อำเภอ จังหวัด ประเทศ มั่นใจว่าทุกอาชีพสามารถใช้ได้ผล”

ปี 2540 ช่วงฟองสบู่แตก สุรชัยเป็นพ่อค้า มีหนี้สินก่อตัวมากมหาศาลก็พยายามแก้ปัญหาดิ้นรนทุกวิถีทาง พอเข้าปี 2542 ไม่มีอะไรดีขึ้น...

ผันชีวิตเข้าสู่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

นับจากได้รับการฝึกอบรมการใช้ชีวิตวิถีเศรษฐกิจพอเพียง ถึงวันนี้ 7 ปีแล้ว แม้ว่ายังมีหนี้สินเหลืออยู่ แต่ก็เหลือไม่มาก

แต่ที่เห็นได้ชัดคือ ครอบครัวสุรชัยมีความเป็นอยู่ดีขึ้นมาก

จุดมุ่งหมายแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเกี่ยวโยงถึงประชาชนส่วนใหญ่ กว่าร้อยละ 80 เป็นเกษตรกร มีสภาวะความเป็นอยู่ไม่ดี มีหนี้สิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงชี้ถึงแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงว่า จะต้องเริ่มจากการยังชีพไปสู่ การเลี้ยงชีพ

“วัตถุนอกกาย เงิน รถ ทีวี มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้าอำนวยความสะดวกสารพัด ถามว่าถ้าไม่มีมันตายไหม ก็คงไม่ตาย แต่อาจจะลำบากสักหน่อย

แต่สิ่งที่เราตื่นขึ้นมาแล้วต้องหาก็คืออาหาร ตราบที่เรายังมีลมหายใจอยู่ ปากมันไม่หยุด อย่างน้อยก็ต้องกินวันละ 3 มื้อ”

ในหลวงท่านชี้ว่า เราต้องเริ่มช่วยเหลือตัวเราเองก่อน ด้วยการลดหนี้สินก้อนใหญ่ของชีวิต รวมพลังในครอบครัวที่อาจจะมีหน้าที่หลักมากน้อยตามอาชีพ ใช้เวลาว่างช่วงเย็นวันเสาร์อาทิตย์รวมพลังกันลดหนี้สินก้อนนี้

“สำรวจดูซิว่าพื้นที่บ้านเราพอมีไหม สวนเราพอมีไหม ค่อยๆปลูกพืช ผัก เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลาไปทีละน้อย”

อยากจะพิสูจน์แนวทางของพระองค์ท่าน...ลองหากระบอกไม้ไผ่ แขวนไว้ฝาบ้าน แล้วลองหาความรู้ปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงกบ ไก่ หมู ที่เหมาะสมกับภูมิประเทศ ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ไม่ทำให้ระบบนิเวศเสียหาย

ถ้าเอาของที่ผลิตขึ้นมาประกอบอาหาร แจกจ่ายให้ญาติพี่น้อง เอาไปทำบุญ ก็ให้คิดเป็นตัวเงิน แล้วเอาเงินจำนวนนั้นใส่กระบอกไม้ไผ่ วันนี้ตัดผักกาดทำกับข้าว 5 บาท เอาไข่ เอาไก่ เอาปลา เอาเห็ดมากิน...เท่าไหร่ก็ใส่ไว้

ครบปีเปิดกระบอกไม้ไผ่ดูจะได้เงินก้อนใหญ่ เอาไปลดหนี้สิน หรือจะเอาไปใช้ลงทุนส่งลูกหลานเรียนหนังสือก็ได้

การช่วยเหลือตัวเองในเบื้องต้นก็คือ การลดต้นทุน

เกษตรกรทั่วประเทศไทยกว่าร้อยละ 80 เป็นไปได้ไหมว่า...ก่อนที่จะทำการเกษตร อย่าใช้เงินนำหน้า แต่ให้ใช้ความรู้นำหน้า

ก่อนที่จะปลูก จะทำอะไร...ให้ไปหาความรู้ในการลดต้นทุนเสียก่อน ทำปุ๋ยหมักจากเศษวัสดุในท้องถิ่น น้ำหมักชีวภาพ ปลูกแฝกบำรุงดิน อุ้มน้ำ ปรับสภาพความเป็นกรดด่าง ป้องกันการชะล้างหน้าดิน

ความรู้เหล่านี้จะช่วยให้เกิดการลดต้นทุน สองสามปีที่แล้ว สุรชัยไปเป็นวิทยากรให้กับเกษตรกรปลูกกระเทียมที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีการทำปุ๋ยใช้เอง ช่วยลดการใช้ปุ๋ยจากปีละ 24 กระสอบ เหลือแค่ 7 กระสอบ เคยลงทุนกว่า 20,000 บาท ลดเหลือ 8,000 กว่าบาทเท่านั้น และยังให้ผลผลิตดีเหมือนเดิม

หากทำเช่นนี้ต่อไป ผืนแผ่นดินจะมีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น สารเคมีตกค้างก็ลดลง ต้นทุนชีวิตจะดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่เสี่ยงต่อสารเคมี

แน่นอน เมื่อต้นทุนการผลิตต่ำลง หากราคาผลผลิตไม่ดี ก็ไม่มีสภาวะขาดทุนมากเท่าไหร่

“นี่คือการเริ่มต้นจากการยังชีพไปสู่การเลี้ยงชีพ” สุรชัย ว่า

ย้อนกลับมาดู 3 ห่วงกับ 2 เงื่อนไข แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

ห่วงแรก...การรู้จักพอประมาณตนเอง รู้จักต้นทุนชีวิตตัวเองว่ามีฐานะอย่างไร ควรจะทำอะไรบ้าง สิ่งที่ทำลงไปก็ต้องรู้จักพอประมาณ ไม่ใช่มีที่ทางก็เอาไปค้ำประกันกู้เงินมาลงทุน เขาให้กู้เท่าไหร่ก็กู้มาหมด ต้องคิดก่อนว่า ถ้าผลผลิตไม่ดีจะมีปัญญาใช้หนี้ไหม

“จะทำอะไร ต้องตั้งอยู่ในพอประมาณตนเอง” เฮียแดงย้ำ

ห่วงที่สอง...ต้องมีเหตุมีผล เป็นไปได้ไหม แต่ละครอบครัวหรือแต่ละกลุ่ม มานั่งคุยกัน ปัญหาทุกวันที่เรามีภาวะความเป็นอยู่ไม่ดีเป็นเพราะอะไร ใช้จ่าย เกินตัวไหม เป็นเพราะอาชีพเราไม่มีความรู้พอใช่ไหม

หรือว่าใช้จ่ายแบบประหยัดแล้ว แต่ยังมีภาวะความเป็นอยู่ที่ไม่ดี ก็ต้องหาต่อไป

ห่วงสุดท้าย ห่วงที่สาม...สร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง

เฮียแดงยกตัวอย่างแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง พื้นที่บ้านมี 2 งานกว่า หลังอบรมจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ ตั้งแต่ปี 2542 ก็คิดว่าถ้าใช้พื้นที่ปลูกพืชอย่างเดียว พื้นที่แค่นี้ยังไงก็ไม่พอกิน

เฮียแดงมีลูกสาว 3 คน ทุกคนเรียนหนังสือ คนโตกับคนกลางเรียนมหาวิทยาลัย คนเล็กอยู่ชั้น ม.6 เฉพาะค่าเทอม รวมแล้ว 4-5 หมื่นบาท

ภรรยาถึงจะมีรายได้จากการทำงาน แต่ก็ไม่พออยู่ดี

เฮียแดงคิดว่า ถ้าทำเกษตรผสมผสาน พืชสวนครัว ไม้ผล เพาะเห็ด เลี้ยงกบ เลี้ยงปลา เลี้ยงหมู ทำกล้าไม้ในบางช่วงที่มีเวลา น่าจะทำให้ มีรายได้ก่อเกิดขึ้นมามากกว่า

“การทำให้เกิดรายได้เลี้ยงครอบครัวได้...เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง”

เกษตรกรขาดภูมิคุ้มกัน เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกพืชเชิงเดี่ยว ถ้าหาความรู้ในการผลิตผลผลิตอย่างอื่นมารองรับเป็นพืชรองสัก 2-3 อย่าง หรือไม่ก็เลี้ยงสัตว์ควบคู่กันไป วันไหนพืชหลักไม่ดี สร้างรายได้ไม่มาก ก็ยังมีพืชรองเข้ามาเสริม มีเงินหมุนเวียน

เมื่อรวมทั้ง 3 ห่วงเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะทำอะไร ก็ต้องตั้งอยู่บนฐานนี้

ส่วนสองเงื่อนไขที่เหลือก็คือ...ความรู้ คู่คุณธรรม

ครอบครัวที่มีความยากจนมาก มีภาวะความเป็นอยู่ไม่ดี เป็นเพราะว่าใช้เงินนำหน้า ปัญญาตามหลัง เรามากลับกันได้ไหม เอาความรู้นำหน้า และเอาเงินตามหลัง

ก่อนที่จะทำอะไร ต้องหาความรู้ก่อน สิ่งที่จะผลิตมีตลาดรองรับไหม ต้นทุนเท่าไหร่ กำไรเท่าไหร่ ถ้ารู้ว่ามีกำไรแน่นอน มีตลาดรองรับแน่นอน จะกู้ 10 ล้าน 100 ล้าน จะจ้างคนเป็นพันๆ จะเช่าที่เป็นหมื่นๆไร่มาทำก็ได้ จะรวยในวันเดียวก็ได้ ไม่มีใครห้าม

ประเด็นสำคัญอยู่ที่การวิเคราะห์ สิ่งที่ทำจะเกิดผลประโยชน์...หรือก่อหนี้สิน

เงื่อนไขสุดท้าย...คุณธรรม อย่างน้อยๆก็ต้องมีความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ชุมชนไหนรวมตัวกันได้ มีการร่วมกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ถือว่าประสบความสำเร็จ แต่ด้วยภาวะหนี้สินทำให้คนในปัจจุบันไม่ค่อยคิดถึงเรื่องนี้ เห็นแก่ตัวกันมาก รวมตัวกันไม่ค่อยได้

ชุมชน ครอบครัวไหน จะประสบความสำเร็จบนแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงได้ จะต้องมีการระเบิดจากข้างใน ต้องเกิดจากจิตสำนึก

ผู้รู้ท่านหนึ่งเขียนไว้ เมื่อไม่ได้พัฒนาด้านจิตใจ จะพัฒนาด้านใดๆก็ไร้ผล การพัฒนาจะต้องเริ่มที่ใจคน จะเกิดผลพัฒนาที่ถาวร ซึ่งก็คือการระเบิดจากข้างใน

หน่วยงานต่างๆที่ดำเนินการเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาตลอดระยะเวลา ส่วนมากมีทั้งงบประมาณ โครงการและแผน แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

เป็นเพราะอะไร ก็น่าจะเป็นเพราะไม่มีการจุดระเบิดมาจากด้านใน

ถึงเวลาก็จะเอาโครงการลงไปสู่ชุมชน ทำไปปุ๊บก็เก็บผลงานส่งกลับไป สู่ส่วนกลาง สิ้นสุดงบประมาณแผนก็ล้มไปหมด

แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่านจึงมีคำว่า ค่อยเป็นค่อยไป

“ทำอย่างไรก็ได้ เพื่อจุดประกายให้ชุมชนต่างๆน้อมรับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไปได้ด้วยใจ ไม่ใช่ว่าน้อมรับไปเพราะต้องการงบประมาณ”

ประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ เฮียแดงฝากทิ้งท้ายไว้ให้คิด ให้ทำ เพื่อผลักดันขยายผลแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงให้ประสบความสำเร็จได้ ในผืนแผ่นดินไทย.

ขอขอบคุณบทความดีๆจาก...(นานมากแล้วจำไม่ได้)

วันพฤหัสบดีที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

เกษตรกรยุค SM

ตลาดสินค้าเกษตร.....จำแนกออกหลายระดับ คือมีตั้งแต่ระดับท้องถิ่นแบกับดิน จนถึง ชั้นสูงเข้าห้องแอร์ซื้อขายกันล่วงหน้า ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับลักษณะของสินค้า

และหากจะมองถึงรูปแบบโดยทั่วไป ก็มีหลายแห่งหลายสถานที่ ซึ่ง เกษตรกรนำสินค้ามาขายแก่ผู้รับซื้อ บางแห่งก็มักจะมีปัญหาในเรื่องของราคาที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากเกษตรกรไม่ทราบสถานการณ์

เพื่อลดปัญหาที่เรื้อรังมาอย่างต่อเนื่อง ตลาดไท อันเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าเกษตรและอาหารทั้งระบบขายส่งและขายปลีก จึงได้นำข้อมูลราคาสินค้าเกษตรใส่ลงในเว็บไซต์ ตลาดไทดอทคอม www.talaadthai.com รายงานความเคลื่อนไหวของ ราคาสินค้าเกษตร ในแต่ละวัน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

แต่ก็มีปัญหา สำหรับกลุ่มผู้ที่เป็น เกษตรกร ผู้ค้า และ รถเร่ ที่ต้องการทราบข้อมูล...เนื่องจากไม่มีสถานที่เหมาะสม ขาดคอมพิวเตอร์ให้เปิดเข้าไปดูเว็บไซต์

นายพีระพงศ์ สาคริก รองประธานกรรมการบริหาร บริษัทไทย แอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ จำกัด (ตลาดไท) จึงปรับรูปแบบการพัฒนา เพื่อให้ทุกกลุ่มได้เข้าถึงข้อมูลที่ชัดเจนแท้จริง และประหยัด ด้วยการนำระบบ ซอฟต์แวร์ ในการส่งข้อความ ราคาสินค้าเกษตร ผ่านระบบ SMS ทาง โทรศัพท์มือถือทุกระบบ....โดยให้บริการมาตั้งแต่ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา

...ข้อมูลที่ได้นำเสนอผ่าน SMS นี้ เจ้าหน้าที่จะออกสำรวจ ราคาสินค้าในตลาดไท ก่อนเวลา 12.00 น. จากจำนวนผู้ซื้อ-ผู้ขายหลายร้านหลายแผง ทำให้เกิดชัดเจนและแน่นอนทุกวัน ก่อนรายงานข้อมูล

สมาชิกที่ต้องการรับทราบข้อมูล มีการแบ่งแยกเป็น 2 ประเภท คือ สมาชิกข้อมูลราคา สินค้าทางเว็บไซต์ (แบบเดิม) จะได้รับบริการข้อมูลราคาสินค้าเกษตรผ่านเว็บไซต์และ SMS จำนวน 3 รายการต่อวันและ สามารถเปลี่ยนแปลงรายการสินค้าได้ด้วยตนเอง

กับ สมาชิก SMS...ผู้สมัครสามารถติดต่อผ่านทางโทรศัพท์ หมายเลข 0-2908-4490-9 ต่อ 276,265 จะได้รับข้อความราคาสินค้าเกษตรผ่านโทรศัพท์มือถือ จำนวน 3 รายการต่อวัน เช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาโปรแกรมให้สามารถดู ราคาสินค้าย้อนหลังได้ถึง 3 ปี เพื่อนำไปประกอบการวิเคราะห์ราคาสินค้า รวมทั้งจะเพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับ ราคาปุ๋ยเคมี ยา และสถานที่ติดต่อซื้อขายได้เพิ่มเติมในอนาคตอีกด้วย

...การที่เกษตรกรผู้ผลิต ได้รับข้อมูลราคาสินค้าเกษตรที่แท้จริงชัดเจน ก็สามารถ มีปากมีเสียง มีอำนาจ ในการ ต่อรองเจรจาซื้อขายสินค้า กับ พ่อค้าคนกลาง...ได้ทันท่วงที

ก็....เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของเกษตรกร ที่จะยืนหยัดการผลิตสินค้าเกษตรบนฐานข้อมูล....โดย ไม่หมิ่นเหม่ต่อความเสี่ยง...!!!
ขอขอบคุณหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

วันอังคารที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

รถพันธุ์ใหม่ 56 กม./ลิตร ประหยัดพลังงาน


สุมิตร อิศรางกูร ณ อยุธยา ก้าวพ้นความฝันเฟื่องสู่นวัตกรรมครั้งยิ่งใหญ่ของชีวิต ด้วยสิ่งประดิษฐ์ รถยนต์พลังไฮโดรเจน ประหยัดพลังงาน 56 กิโลเมตรต่อลิตร

จากช่างเทคนิคลูกทัพฟ้าสู่พ่อมดแห่งนาซา นักประดิษฐ์ผู้ไม่ยอมแพ้ ทุ่มเทแรงกายแรงใจ พัฒนาอุปกรณ์แยกไฮโดรเจนจากน้ำที่สามารถไปติดตั้งไว้ในรถยนต์ได้เลย ทำให้รถยนต์สามารถใช้พลังน้ำแทนน้ำมันในการขับเคลื่อนได้สำเร็จ

"จุดประสงค์ที่คิดค้นเกิดจากอยากให้โลกรู้ว่า น้ำสามารถเป็นพลังงานทดแทนได้ในอนาคต จึงได้พัฒนาอุปกรณ์ตัวนี้ขึ้นมา นอกจากนี้รีแอคเตอร์ยังเป็นตัวแก้ปัญหามลพิษ สภาวะปัญหาของโลกในปัจจุบันที่เกิดสภาวะโลกร้อน เพราะการใช้น้ำมาเป็นพลังงานเป็นเชื้อเพลิง จะทำให้ลดภาวะโลกร้อนและแก้ปัญหามลพิษไปด้วย ผลงานชิ้นนี้จะไม่ใช่ชิ้นแรกและชิ้นสุดท้าย ขอให้คนไทยเป็นกำลังใจให้ผมและทีมงานทำหน้าที่ต่อไปให้สำเร็จ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติต่อไป" นายสุมิตรกล่าว

"สุมิตร" เล่าถึงที่มาของแนวคิดในการพัฒนาอุปกรณ์เพื่อนำเอาพลังงานน้ำมาใช้ว่า ตั้งใจทำให้คนไทยและโลกรู้ว่าน้ำเป็นพลังงานทดแทนได้ เพราะน้ำมีพลังงานมหาศาล แต่ยังไม่มีใครนำพลังงานของน้ำมาใช้อย่างเต็มที่

เทคโนโลยีพลังงานไฮโดรเจน อาศัยหลักการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า ทำให้ได้ก๊าซไฮโดรเจน 2 อะตอม และ ออกซิเจน 1 อะตอม โดยใช้อุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นเรียกว่า "รีแอคเตอร์" เป็นตัวแยก เมื่อนำไปติดตั้งกับรถยนต์จะใช้ไฟฟ้ากระแสตรงจากแบตเตอรี่รถ 12 โวลต์ เข้ามาทำการแยกโดยขั้วบวกจะมีปฏิกิริยาของออกซิเจน ขั้วลบจะเป็นปฏิกิริยาของไฮโดรเจนในการแยกโมเลกุลน้ำ และได้ไฮโดรเจนซึ่งเป็นเชื้อเพลิง แล้วส่งเข้าไปสันดาปในเครื่องยนต์

จุดเด่นของ "รีแอคเตอร์" คือ ปฏิกิริยาการแยกน้ำจะเกิดขึ้นทีละน้อย ตามความต้องการของเครื่องยนต์ โดยไม่ต้องนำไฮโดรเจนที่ได้ไปเก็บไว้ในถังเก็บ เมื่อผลิตไฮโดรเจนออกมาได้แล้วก็ส่งออกไปยังเครื่องยนต์ ทำให้เกิดการจุดระเบิดขึ้น เพราะคุณสมบัติที่ดีของไฮโดรเจนก็คือมีการเผาไหม้ได้สูงและมีการจุดระเบิดที่ต่ำมาก เหมือนเครื่องยนต์ที่ใช้กันในปัจจุบัน เทคโนโลยีทุกวันนี้ในการผลิตไฮโดรเจนโดยใช้วิธีการคล้ายๆ กัน จะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "อิเล็กโทรไรท์เตอร์" ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีที่คล้ายๆ กันหมด

"ปฏิกิริยาแยกน้ำจะเกิดความร้อนสูง ยากแก่การควบคุม ซึ่งเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดอันตรายได้ แต่รีแอคเตอร์ที่พัฒนาขึ้น สามารถควบคุมความร้อนให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย ที่สำคัญใช้น้ำเป็นวัตถุดิบต้นกำเนิดของเชื้อเพลิง ซึ่งหาได้ง่าย ราคาถูก และประการสุดท้าย คือ ไอเสียที่เกิดจากการสันดาปนั้น จะปนออกมารวมตัวกับออกซิเจนกลายเป็นน้ำอีกครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นไอเสียบริสุทธิ์"

"รีแอคเตอร์ 2" ขณะนี้ได้ออกแบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นตัวทำหน้าที่ตรวจสอบความผิดปกติของการทำงานในระบบทั้งหมด วงจรนี้จะทำงานร่วมกับ ไมโครคอนโทรลเลอร์ ที่จะเป็นตัวควบคุมการทำงานของรีแอคเตอร์กับเครื่องยนต์ เพื่อให้ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่น้อยลง และได้ผลผลิตคือ ไฮโดรเจนในปริมาณที่เป็นสัดส่วนกับความต้องการของเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด

ขอขอบคุณ คมชัดลึก