วันพุธที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๓

เกษตรอินทรีย์ มีรายได้ตลอดปี

“แต่ก่อนไม่รู้เป็นอะไรเจ็บป่วยบ่อยมาก พอไปตรวจเลือดจึงได้รู้ว่ามีสารพิษปนเปื้อนอยู่ในร่างกายเป็นจำนวนมาก นี่คงเป็นผลพวงของการทำเกษตรโดยใช้สารเคมีมาเป็นเวลานาน แต่เมื่อเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ ร่างกายก็แข็งแรงขึ้น ต้นทุนในการผลิตลดลง เงินเก็บก็เยอะขึ้นด้วย” ลุงสว่าง อินต๊ะ หมอดินอาสาของสถานีพัฒนาที่ดินเชียงใหม่ บ้านท่ากว้าง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ เล่าให้ฟัง

ลุงสว่าง เคยทำเกษตรเคมีมาก่อน แต่พอหลังจากได้ไปอบรมและศึกษาดูงานที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการตรวจสุขภาพโดยการตรวจเลือด และพบสารพิษในร่างกายขั้นอันตราย จากนั้นจึงได้กลับมาทบทวนดูว่าคงทำเกษตรเคมีต่อไปไม่ได้แล้ว จึงได้เปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ด้วยการหันกลับมาทำเกษตรอินทรีย์แทน โดยเริ่มจากการลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ประกอบกับที่ตนเป็นหมอดินอาสา ของกรมพัฒนาที่ดิน จึงได้มีโอกาสไปศึกษาอบรมในเรื่องของการลด ละ เลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตร การลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งได้รับปัจจัยการผลิตที่กรมพัฒนาที่ดินหยิบยื่นให้ เช่น สารเร่งจุลินทรีย์เพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ แล้วค่อย ๆ ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีลงเรื่อย ๆ

ในการลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรในช่วงแรกนั้นจะค่อย ๆ ลดปริมาณการใช้ลง เช่น เมื่อก่อนใช้ปุ๋ยเคมี 5 กระสอบต่อ 1 ไร่ ก็ลดปริมาณการใช้ลงเหลือ 2 กระสอบต่อ 1 ไร่ แต่จะใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอกลงไปแทน จากนั้นจึงลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีเรื่อยมา จนปัจจุบันนี้แทบไม่ใช้ปุ๋ยเคมีเลยหากไม่จำเป็น

ปัจจุบันลุงสว่างปลูกพืชผักสวนครัวและพืชสมุนไพรเป็นหลัก เช่น โหระพา กระเพรา แมงลัก และใบยี่หร่า มีพื้นที่ในการปลูก 2 ไร่ มีรายได้จากการเก็บพืชผักสวนครัวเหล่านี้ขายวันละ 300-500 บาท และสามารถเก็บขายได้ทุกวันตลอดทั้งปี ทำให้มีเงินเหลือเก็บประมาณ 30,000-40,000 บาทต่อปี

นอกจากนี้ สวนของลุงสว่างยังเป็น ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ที่ มีเกษตรกรในท้องถิ่นมาดูงานปีละไม่ต่ำกว่า 800-900 คน โดยเกษตรกรที่มาอบรมจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตตามแบบเศรษฐกิจพอเพียง การลดต้นทุนการผลิต การลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมถึงการทำเกษตรเข้าสู่เกษตรอินทรีย์ด้วย

“ปัจจุบันตั้งแต่หันมาทำเกษตรอินทรีย์ ในด้านสุขภาพไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลบ่อยเหมือน แต่ก่อน ที่สำคัญสุขภาพจิตก็ดีขึ้นด้วย ส่วนในด้านของต้นทุนการผลิตนั้น เมื่อก่อนตอนปลูกพืชโดยใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตรพอเก็บผลผลิตแล้วก็ ต้อง ไถทิ้ง ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจ้างรถมาไถประมาณ 2-3 เดือนต่อครั้ง ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง อีกทั้งปุ๋ยเคมีมีราคาแพงมาก แต่เมื่อหันมาทำเกษตรอินทรีย์ ได้ผลิตปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยชีวภาพใช้เองโดยนำเศษวัสดุเหลือจากการทำเกษตร มาทำปุ๋ยอินทรีย์ ไม่ต้องไปซื้อหาที่ไหน จึงสามารถลดค่าใช้จ่ายไปได้มากถึง 60%” นายสว่าง กล่าวย้ำ

สุดท้ายนี้ก่อนจาก ลุงสว่าง ยังได้ฝากคำแนะนำดี ๆ มายังเพื่อนเกษตรกรด้วยว่าการทำเกษตรเคมีทำให้มีรายจ่ายสูง หากเกษตรกรรายใดยังทำอยู่ ถ้าสามารถลดละเลิกได้ก็ควรทำ หันมาเข้าสู่วิถีเกษตรอินทรีย์โดยการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกดีกว่า นอกจากจะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้มากแล้ว ยังทำให้สุขภาพของเราดีขึ้นอีกด้วย ซึ่งพิสูจน์มาแล้วกับตัวเอง

หากเกษตรกรรายใดสนใจวิถีการทำเกษตรอินทรีย์ที่สามารถสร้างทั้งสุขภาพที่ดี และรายได้ตลอดทั้งปีอย่างลุงสว่าง อินต๊ะ สามารถสอบถามเพิ่มเติมไปได้ที่ 08-9634-5361 รับรองว่าจะได้ข้อมูลอย่างไม่มีกั๊กแน่นอน.

ขอขอบคุณหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันอังคาร ที่ 24 สิงหาคม 2553

วิจัยเกษตรอินทรีย์ เพิ่มธาตุอาหารในดิน

นายฉลอง เทพวิทักษ์กิจ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า สำนักวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ดินทำการศึกษาวิจัย ผลของการทำเกษตรกรรมแบบเกษตรอินทรีย์ต่อปริมาณธาตุอาหารในดิน โดยได้คัดเลือกพื้นที่ดำเนินการ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรีและสระแก้ว รวม 11 อำเภอ 16 ตำบล รวม 163 ตัวอย่าง เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติทางเคมีและกายภาพดินในพื้นที่ของเกษตรกรที่มีการทำ เกษตรอินทรีย์ ประเภทไม้ผล พืชผักและสมุนไพรมามากกว่า 3 ปี และมีการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกและน้ำหมักชีวภาพที่ผลิตขึ้นเองจากวัสดุที่มีในท้องถิ่น เปรียบเทียบกับพื้นที่ของเกษตรกรข้างเคียงซึ่งไม่ได้ทำเกษตรอินทรีย์

จากการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการและตรวจสอบในภาคสนามพบว่าระดับ ค่าความเป็นกรดเป็นด่างในพื้นที่ที่ทำเกษตรอินทรีย์มีแนวโน้มว่าเพิ่มขึ้น กว่าพื้นที่ที่ไม่ได้ทำเกษตรอินทรีย์ นอกจากนี้ ยังพบว่าพื้นที่ที่มีการทำเกษตรอินทรีย์มากกว่า 3 ปี จะมีระดับธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืชในสัดส่วนที่สูงกว่าพื้นที่ที่ไม่ มีการทำเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะปริมาณฟอสฟอรัสและปริมาณโพแทส เซียม แต่สำหรับพื้นที่ที่มีระดับของธาตุอาหารต่ำกว่าเกณฑ์ที่เหมาะสม ยังมีความจำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเคมีในปริมาณที่เหมาะสมร่วมกับการใช้ปุ๋ย อินทรีย์ เพื่อให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นซึ่งกรมฯ มีโปรแกรมการจัดการดินและปุ๋ยรายแปลงที่สามารถช่วยให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีได้ ตามสัดส่วนการใช้ในปริมาณที่ถูกต้องยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีเกินความจำเป็นที่ดินและพืชต้องการ.

ขอขอบคุณหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันอังคาร ที่ 24 สิงหาคม 2553