วันพุธที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๔

โมเดล "1 ไร่ 1 แสน" ทำง่าย...ไม่ยากจน



ในขณะที่สังคมกำลังจับจ้องข้อเสนอการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุนเป็นประธาน ซึ่งมีรายละเอียดส่วนหนึ่งส่งผลกระทบถึง แลนลอร์ดและ เกษตรกรล้วนแล้วแต่มีกระแสทั้งติ - ชม แต่หากมองอีกมุม ก็ถือได้ว่า ตรงกรอบที่ คปร. ปักธง โยนหินถามทางไว้ว่า สังคมไทยจะคิดเห็นกันอย่างไรกับเรื่องเหล่านี้

เช่นเดียวกันกับ นโยบายที่พุ่งเป้าไปที่เกษตรกรอย่างโครงการ “1 ไร่ 1 แสนที่ถูกนำเสนอผ่านสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยได้โต้โผใหญ่ อย่างนายดุสิต นนทะนาคร ซึ่งควบตำแหน่งในคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) ของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ขับเคลื่อน ตามนโยบาย การปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคม ประเทศไทย ภายใต้แนวทางการลดความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้

เมื่อปี 2553 โครงการ “1 ไร่ 1 แสนนำร่อง 6 เดือน (มิ.ย. พ.ย.) ที่อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น กลุ่มเกษตรกรรวมถึงสังคมต่างสงสัยถึงความน่าจะเป็นว่า พื้นที่ 1 ไร่ สร้างรายได้มากถึง 1 แสนเชียวหรือ ?

ผลลัพธ์เชิงประจักษ์ประการหนึ่งที่เห็นชัดเจนขณะนี้คือ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 19 ราย โดยใน 8 รายแรกเข้าร่วมโครงการอย่างเต็มรูปแบบมีรายได้เฉลี่ยถึง 147,705.50 บาท

ในขณะที่อีก 11 รายที่เข้าร่วมบางส่วนมีรายได้เฉลี่ย 11,277.45 บาท

ขณะเดียวกันต้นทุนของการทำนา 1 ไร่จากเดิม 10,000 บาท ลดฮวบหลายเท่าตัวเหลือเฉลี่ยเพียง 2,292 บาทต่อไร่ นับได้ว่าประสบความสำเร็จไม่น้อย ส่งผลให้เกษตรกรทั่วประเทศแห่เดินทางมาเยี่ยมชมแปลงต้นแบบในจังหวัดขอนแก่นกว่า 1,000 คนในเวลาถัดมา

แนวทางขับเคลื่อนเรื่องนี้นั้น นายดุสิต บอกว่า ตั้งเป้าจะขยายโครงการให้ครอบคลุมพื้นที่ 20,000 ไร่ โดยเฉลี่ยจังหวัดละ 84 ครัวเรือน พร้อมแจกจ่ายคู่มือทำนา 1 แสน 1 ไร่ กว่า 200,000 เล่มให้เกษตรกรทั่วประเทศ และจะเริ่มทดลองสิ่งใหม่ จากเดิมที่มีเพียง นาข้าวสู่ แปลงมันสำปะหลังเพื่อขยายผลความสำเร็จของโครงการต่อไป

ซึ่งเมื่อมีตัวเลขความสำเร็จ ให้เห็นกันแล้ว แนวนโยบายในอนาคตก็พร้อมสรรพ เรามาลองทำความรู้จักโครงการ “1 ไร่ 1 แสนให้มากกว่านี้เสียหน่อย....

ปฐมบท 1 ไร่ 1 แสน

ที่มาของโครงการ 1 ไร่ 1 แสน ถือได้ว่า ถูกปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเป็นรูปแบบที่ 4 ของเกษตรทฤษฏีใหม่ ตามหลักปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

มีแนวคิดเสมือนทำพื้นที่ให้เป็น เกาะด้วยวิธีการขุดลอกคูคลองกว้าง - ลึก 1 เมตร ล้อมรอบบริเวณผืนดิน ขยายคันนาจากปกติที่เคยกว้าง 50 เซนติเมตรเป็น 1.5 เมตร เพื่อให้พื้นที่เพียงพอต่อการปลูกพืชผักผลไม้ตามกระแสความต้องการรายท้องถิ่น โดยส่วนที่เหลือจึงเป็นบริเวณแปลงนา

จากเดิมที่ แบ่งสัดส่วนพื้นที่หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในอัตรา 30 : 30 : 30 : 10 อันหมายถึง ขุดสระเก็บกักน้ำทำประมงขนาดย่อม 30% พื้นที่ทำนา 30% ปลูกพืชผักผลไม้ 30% และเป็นที่อยู่อาศัยในสัดส่วน 10%

ขณะที่สภาหอการค้าไทยนำเสนอให้คงสัดส่วนเดิมไว้ เพียงแต่ต้อง กระชับพื้นที่ให้ระบบนิเวศเกื้อกูลต่อกัน

ในอดีตเกษตรกรมักมีความเชื่อว่า หากเลี้ยงปลาในนาข้าวจะเสียหาย ในขณะเดียวกันหากเลี้ยงเป็ดที่แปลงนาจะย่ำข้าวเสียหาย และกินกบที่เลี้ยงไว้หมด แต่โครงการ 1 ไร่ 1 แสนนี้ สนับสนุนให้เลี้ยงทุกอย่างไว้ในแปลงเดียว โดยเชื่อกันว่า หากมีการบริหารจัดการที่ดี ควรปล่อยอะไรก่อนหรือหลัง จะทำให้การกสิกรรม (ข้าวในแปลง) ปศุสัตว์ (เป็ดที่คันนา) และประมง (ปลาในบ่อ) อยู่ร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหา ?!?

นอกจากการบริหารจัดการให้ถูกวิธีแล้วนั้น การทำความเข้าใจในพฤติกรรมของสัตว์แต่ละชนิดเป็นหัวใจสำคัญ

ยกตัวอย่าง ปลาแต่ละชนิดมีวิธีการกินอาหารในระดับน้ำที่แตกต่างกันออกไป ปลาไนกินอาหารใต้พื้นดิน ปลานิลกินกลางน้ำ และปลาสวายอยู่ผิวน้ำ หากเข้าใจได้ดังนี้ ก็สามารถเลี้ยงปลาทั้งสามได้โดยไม่รบกวนซึ่งกันและกัน

เจาะลึกจะรู้ว่า มูลของปลาปริมาณมากอาจส่งผลให้เกิดการหมักหมม ก็ส่งหอยขมลงไปจัดการ นั่นเท่ากับว่า 1 แหล่งน้ำ ทำการประมงได้อย่างน้อยถึง 4 ชนิดเลยทีเดียว ดูเหมือนอะไรต่อมิอะไรจะดูง่ายไปหมด ตั้งแต่อธิบายมา แต่กระนั้นก็ยังมีสาเหตุที่ทำให้ “1 ไร่ 1 แสนไม่สำเร็จตามเป้าหมายเหมือนกัน

วิชาเดียวที่พวกเขาขาดไม่ได้คือ อัตตาหิ อัตตโนนาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน ตามหลักพระพุทธศาสนาเป็นคำตอบแรกที่ผุดขึ้นมาจากการสนทนากับประธานโครงการ 1 ไร่ 1 แสน นายอดิศร พวงชมภู ที่มองว่า แก่นแท้สำคัญในโครงการนี้ จะมีมากหรือยากจนขึ้นอยู่กับการ พึ่งตนด้อย่างเต็มประสิทธิภาพหรือไม่

เทคโนโลยีบนวิถีประยุกต์

ทุกวันนี้ลูกทุกคนอกตัญญูต่อแม่ หันไปทำ นาบาป มากกว่า นาบุญ จนเราเผลอป้อนยาฆ่าหญ้า ฆ่าแมลงให้แม่กิน เมื่อแม่พระธรณี และพระแม่โพสพได้รับอาหารที่เป็นพิษ สุดท้ายเมล็ดข้าวที่กินก็ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง แล้วเราจะโทษใคร ตัวเองหรือเทวดา ?” นายอดิศร เกริ่นนำถึงผลเสียของสารเคมี ก่อนที่จะเสนอทางออกถึงสารอาหารอินทรีย์ที่มีชื่อว่า สรรพสิ่งอะตอมมิคนาโน

สิ่งมีชีวิตทุกประเภทบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะ คน สัตว์ หรือพืช ต้องการสารอาหาร และพลังงานไปหล่อเลี้ยงเซลล์ของตน ยิ่งทำให้อาหารถูกดูดซึมเข้าเม็ดเซลล์เร็วขึ้นเท่าไหร่ นั่นเท่ากับว่าเป็นการเพิ่มโอกาสเจริญเติบโตให้กับสิ่งเหล่านี้นายอดิศร ย้ำให้เห็นหัวใจสำคัญของการทำงาน

นั่นเท่ากับว่าเมื่อสิ่งมีชีวิตไม่ต้องสูญเสียเวลาในการจัดเรียงโมเลกุลใหม่ จึงทำให้การเจริญเติบโตของผลผลิตสมบูรณ์ขึ้น

เขาบอกว่า จากผลการทดลองพบมูลของสัตว์ที่ได้กินอาหารผสมสรรพสิ่งนี้ หากเป็นสัตว์ที่กินเนื้อจะเกิดสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า แพลงตอนสีแดง ในทางกลับกันหากเป็นสัตว์ที่กินพืช จะเกิดแพลงตอนสีเขียว นั่นเท่ากับว่าเราได้อาหารของปลาที่กินทั้งพืชและสัตว์ มาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม แถมยังทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตไปโดยปริยาย

หากพูดตามภาษาชาวบ้าน อะตอมมิคนาโนอาจเรียกได้ว่า ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดหนึ่ง ที่นอกจากจะเป็นมิตรต่อธรรมชาติแล้ว ยังทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงไปหลายเท่าตัวจากตัวเลขหลักพัน เหลือเพียงแค่หลักร้อย อดิศร บอกว่า เพราะ สรรพสิ่งอะตอมมิคนาโนได้เข้าไปปรับสมดุลของธรรมชาติให้เข้าที่แล้ว ฉะนั้น เมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม เกษตรกรอาจไม่จำเป็นต้องใช้อย่างต่อเนื่องก็ได้

ต้นทุนลด รายได้เพิ่ม

1 ในชาวนานำร่องโครงการ 1 ไร่ 1 แสน อย่าง ส.ต.อ.สมัย สายอ่อนตา ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรอินทรีย์ตำบลบ้านดง จังหวัดขอนแก่น วัย 43 ปี พร้อมกับสมาชิกครอบครัว 6 คน ที่ผันชีวิตมาเป็นเกษตรกรเล่าให้ฟังว่า

แรกเริ่มไม่มีใครมั่นใจมากนัก มีคนหัวเราะเยาะด้วยซ้ำไปว่าพื้นที่ 1 ไร่ จะทำกำไรได้อย่างไร"

จนเมื่อเขาได้รับการอบรม ได้เดินทางไปศึกษาแปลงนาทดลองที่จังหวัดนครปฐม จึงเห็นว่า มีลู่ทางประสบความสำเร็จ จากนั้นได้ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ

หากหักค่าใช้จ่ายเริ่มต้นในการขุดลอกคลอง 4,000 บาทแล้ว ต้นทุนการผลิตจากเดิม 1,500 บาท ในการจ้างแรงงาน ซื้อมัดกล้า และค่าอาหารสัตว์ การทำโครงการนี้กลับช่วยลดต้นทุนให้เหลือเพียง 600 บาทต่อไร่ โดยเฉพาะ การเปลี่ยนรูปแบบการทำนาจากเคยใช้ นาดำ จ้างแรงงานนำมัดกล้ามาปักดำ เป็น นาโยน ซึ่งพ่อตาผมอายุ 81 ปี ใช้เวลาทำคนเดียวแค่ 45 นาที ทำให้เราประหยัดทั้งต้นทุน และเวลาได้มากพอสมควร

เมื่อแจกแจง เปิดตัวเลขในบัญชีรายรับรายจ่ายให้เห็นกันแล้ว ส.ต.อ.สมัย บอก...แทบไม่น่าเชื่อ สมัยก่อนเคยจ้างแรงงานทำนาเต็มพื้นที่ 50 ไร่ กลับขาดทุนมากกว่าการทำนา 4 ไร่ ด้วยแรงงานครอบครัวเพียง 6 คนเสียอีก

แม้ปัจจุบัน ส.ต.อ.สมัย ยังไม่สามารถทำรายได้ถึง 1 แสนบาทตามเป้าของโครงการ แต่เขาก็พอใจ จากเดิมที่มีรายได้เพียง 5,000 บาทต่อไร่ เพิ่มขึ้นมาเป็นหลักหมื่น

นี่ยังไม่นับ เงินที่จะเข้ากระเป๋าในอนาคต หากถึงเวลาจับปลา จับกบ หรือเก็บพืชผัก อย่าง ตะไคร้ มะละกอ ไปขาย

ส.ต.อ.สมัย ยังเล่าให้หลายคนได้อิจฉาเล่นๆ ว่า ทุกวันนี้เมื่อไปตลาด เขาแทบจะซื้อแค่น้ำปลา กับเกลือ 2 อย่างเท่านั้น ที่ไม่สามารถผลิตเองได้ วัตถุดิบที่จะอาหารที่เหลือหลากหลายชนิด หาได้จากบริเวณเรือกสวน ไร่นาของเขาเอง

นอกจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น เกษตรกรผู้นี้ บอกอย่างภาคภูมิใจด้วยว่า 6 ชีวิตในครอบครัวของเขามีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกันมากขึ้น จากเคยจ้างแรงงาน ผันสู่กิจกรรมครัวเรือน ชุมชนเข้มแข็งสามัคคีเข้าใจ แบ่งปลูกพืชท้องถิ่นตามความถนัดเฉพาะ และแลกเปลี่ยนผลผลิตแทนการซื้อกิน

ทำให้ทุกวันนี้ ส.ต.อ.สมัย และชุมชนตำบลบ้านดงมีแต่รอยยิ้ม จากเครือข่ายที่รวมตัวกันทำเกษตรอินทรีย์เพียง 40 คน บัดนี้มีเครือข่ายองค์กรที่ร่วมวงศึกษากว่า 140 คน ภายในเวลาไม่ถึงปี

ขณะที่อุปสรรคในมุมมองของ ส.ต.อ.สมัย นั้น นอกจากการพึ่งตนเองแล้ว บริบทของพื้นที่เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะหากอยู่ในบริเวณที่ไม่มีน้ำหมุนเวียนก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ ขณะเดียวกันการหนุนเสริมจากส่วนกลางเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ โดยเฉพาะการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจกับเกษตรกร นั่นอาจหมายรวมถึงนโยบายทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน

รัฐบาลทุกสมัยนิยมตั้งเป้าหมายประเทศถึงการขายข้าวให้เป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่ใช้วิธีกดราคาให้ต่ำลง เพื่อสร้างปริมาณการส่งออก จึงส่งผลกระทบต่อชาวนาไทยมาจนถึงปัจจุบัน ฉะนั้นในระดับท้องถิ่นต้องคิดทวนกระแสเปลี่ยนจากการขายข้าวสารเป็นข้าวเปลือก จากพึ่งสารเคมีเป็นใช้ภูมิปัญญาประยุกต์ จากปลูกเพื่อส่งออกเป็นพอกิน และขายเมื่อเหลือ เชื่อว่า เพียงเท่านี้พื้นที่ 1 ไร่ 1 แสน ทำง่ายแต่ไม่จน อย่างแน่นอน

วันจันทร์ที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๔

ข้าวหอมมะลิไทย บุกโปรโมตฮ่องกง

“พาณิชย์”ขน ข้าวหอมมะลิไทย บุกโปรโมตฮ่องกง ดันขึ้นเหลา รีสอร์ท โรงแรมหรู สร้างภาพพรีเมี่ยมหวังเพิ่มยอดขาย

เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 54 นางปราณี ศิริพันธ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการส่งออกและสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ฮ่องกง เข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหาร โฮเฟ็กซ์ 2011 ที่ฮ่องกง วันที่ 11-14 พ.ค.นี้ โดยนำข้าวหอมมะลิไทยและเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทยไปประชาสัมพันธ์ให้ผู้เข้าร่วมงาน โดยเฉพาะร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ท เข้าใจถึงคุณลักษณะพิเศษของข้าวหอมมะลิไทยที่มีคุณค่าและคุณภาพชั้นเลิศ มีความแตกต่างจากข้าวอื่นจากประเทศจีน

“การเข้าร่วมงานจะเป็นช่องทางสำคัญในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นผู้บริโภคฮ่องกง ภัตตาคาร ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทชั้นนำ ทั้งในฮ่องกงและในภูมิภาคเอเชีย และเป็นการแสดงศักยภาพการเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก รวมทั้งขยายโอกาสทางการค้าให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าชาวฮ่องกงตั้งแต่ผู้นำเข้าจนถึงผู้บริโภคระดับครัวเรือน นักท่องเที่ยวชาวจีน และผู้เข้าร่วมงานจากทั่วโลก ผ่านงานแสดงสินค้าอาหารที่ใหญ่ที่สุดในฮ่องกง”

นางปราณีกล่าวว่า งานแสดงสินค้าอาหาร โฮเฟ็กซ์ 2011 เป็นงานแสดงสินค้าอาหารและบริการนานาชาติที่สำคัญงานหนึ่งในภูมิภาคเอเชียและเป็นงานแสดงสินค้าใหญ่ที่สุดในฮ่องกง โดยมีผู้เข้าร่วมงานที่เป็นผู้ประกอบการด้านธุรกิจอาหารและบริการจากทั่วโลกกว่า 30,000 คน จาก 50 ประเทศ นอกจากนี้ ฮ่องกงยังเป็นตลาดส่งออกข้าวหอมมะลิที่สำคัญของไทย โดยปี 53 ฮ่องกงนำเข้าข้าวทั้งสิ้น 3.4 แสนตัน และนำเข้าข้าวไทยสูงสุดถึง 2.2 แสนตัน คิดเป็น 64.8% เป็นข้าวหอมมะลิไทย 1.69 แสนตัน สำหรับไตรมาสแรกของปี 54 (ม.ค.-มี.ค.) นำเข้าข้าวจากไทยแล้ว 5.4 หมื่นตัน เป็นข้าวหอมมะลิไทย 4.2 หมื่นตัน

“ความร่วมมือในการขยายตลาดข้าวหอมมะลิไทยในฮ่องกง เกิดขึ้นตามนโยบายของ นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ ที่ได้ประชุมร่วมกับสมาคมผู้ค้าข้าวฮ่องกงและเห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมไทย-ฮ่องกง เพื่อกำหนดกลยุทธ์และแนวทางการรักษาและขยายตลาดข้าวหอมมะลิไทยในฮ่องกง ซึ่งเป็นตลาดส่งออกข้าวหอมมะลิไทยที่สำคัญของไทย ซึ่งคณะทำงานได้กำหนดแนวทางในการส่งเสริมประชาสัมพันธ์ข้าวหอมมะลิไทยโดยการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าสำคัญเพื่อเผยแพร่ภาพลักษณ์และสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพมาตรฐานของข้าวหอมมะลิไทยในกลุ่มผู้บริโภคชาวฮ่องกง”

ที่มา เดลินิวส์

ทักทายครับ

สวัสดีครับ

โอ้วห่างหายไปเลยครับ พอดีเจ้าของบล็อคประสพกับการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ จิตใจเลยซวยเซไป บัดนี้พร้อมแล้วครับ พร้อมที่จะเข้าประจำการ คัดสรรบทความดีๆให้ได้อ่านกันครับ.