วันอาทิตย์ที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท


มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาทอย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์มีน้อยใช้น้อยค่อยบรรจงอย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน


สุภาษิตคำกลอนนี้จำขึ้นใจมาตั้งแต่เด็ก ๆ แต่ดูเหมือนเราก็จะได้แต่ท่องอยู่ในใจนั่นเอง ไม่ได้นำมาปฏิบัติตามกันอย่างจริง ๆ จัง ๆ สักเท่าไร
ตอนเด็ก ๆ จำได้ว่า แม่จะจูงมือไปธนาคารออมสินปีละครั้งสองครั้ง
ครั้งหนึ่งคือ ในวันเด็ก ซึ่งแม้จะเป็นวันเสาร์ ออมสินเขาก็จะเปิดให้บริการครึ่งวัน ให้เด็ก ๆ ฝากเงินกันคนละ 5 บาท 10 บาท แล้วก็ได้กระปุกออมสินมาเป็นที่ระลึก
อีกครั้งหนึ่ง คือ วันสถาปนาธนาคารออมสิน ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เมษายนของทุกปี เขาก็จะแจกกระปุกออมสินเหมือนกัน แต่บางปีก็ไม่ได้ไป เพราะไม่ใช่วาระพิเศษของเด็ก ๆ
ปีนี้ ธนาคารออมสินอายุ 96 ปีแล้ว..
ใครยังมีกระปุกออมสินที่ได้มาตั้งแต่สมัยยังเด็ก หรือมีสมุดบัญชีเงินฝากที่พ่อแม่เคยจูงมือไปฝากเงินให้ เหลืออยู่บ้าง ยกมือขึ้น..
หลายคนบอกว่า จะบ้าหรือไง..อย่าว่าแต่กระปุกออมสินเก่า ๆ หรือสมุดเงินฝากเปื่อย ๆ เลย เอาแค่บัญชีเงินฝากธนาคารทุกวันนี้ ก็แทบจะไม่เหลือเงินติดบัญชีอยู่แล้ว..
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล เจ้าของรางวัลนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่คนล่าสุด ของสถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ ศึกษาพบว่า ในประเทศไทยมีบัญชีเงินฝากธนาคารอยู่ราว 70 ล้านบัญชี แต่มีอยู่ถึง 68 ล้านบัญชี ที่มีเงินเฉลี่ยอยู่เพียงบัญชีละ 4,000 บาทเท่านั้น...!!!
และเมื่อสำรวจพฤติกรรมการออมของคนไทยทั่วประเทศ ยังพบว่า 50% ของครัวเรือนไทย มีการออมติดลบ
หมายความว่า ถ้าถามประชาชนทุก ๆ 2 คน จะมีคนตอบว่าไม่มีเงินออมมากกว่า 1 คน..!!
ที่น่าแปลกก็คือ คนไทยไม่รู้วิธีออมเงิน.. มิหนำซ้ำ ยังไม่รู้ตัวด้วยว่าตัวเองไม่รู้..!!หลายคนบอกว่า เงินเดือนที่ได้มาก็ผ่านบัญชีเงินฝากธนาคารอยู่แล้ว แต่ละเดือนที่เราใช้ไม่หมดมันก็เป็นเงินออมไม่ใช่หรือ..?
คำตอบ คือ ไม่ใช่จ้ะ..!
ลองนึกภาพตอนที่เราอายุ 60-70 ปี ไม่ได้ทำงานมีรายได้ประจำแล้ว ครั้นจะแบมือขอเงินลูกหลานทุกเดือนก็คงกระดากอาย เงินที่เหลือติดบัญชีเงินเดือนอยู่จะพอใช้ได้อีกสักกี่เดือน..!?
เพราะฉะนั้น ถ้าจะไม่ให้ ต้องยากนาน ในวัยชรา ก็ต้องเริ่มเก็บออมเสียแต่วันนี้..
สมมุติว่าเรามีเงินเดือน 10,000 บาท ตั้งใจจะออมสักเดือนละ 1,500 บาท คิดเป็น 15% ของเงินเดือน วาดฝันว่า 1 ปีจะมีเงินเก็บ 18,000 บาท ไม่รวมดอกเบี้ย.. ถึง 10 ปีก็มี 180,000 บาทแล้ว
จะเก็บออมเพิ่มขึ้นก็ยังได้ เพราะทำงานไปนาน ๆ เข้า เงินเดือนเพิ่มเป็น 20,000 บาท เก็บเดือนละ 3,000 บาท ก็ 15% เท่าเดิมนั่นเอง ยังเหลือไว้ใช้ได้ตั้ง 17,000 บาท
แต่จนแล้วจนรอด ไอ้ที่วาดฝันไว้ ก็ไม่เป็นจริงเสียที..
บางครั้งผ่านไป 2-3 เดือน มีเงินเหลือสัก 3-4,000 บาท ก็เบิกมาใช้โน่น ซื้อนี่เสียแล้ว ต้องมาเริ่มต้นกันใหม่
พอมันทำไม่สำเร็จ พลอยเลิกไปเลย ไอ้ที่จะเก็บเดือนละ 1,500 ก็ไม่ได้เก็บเสียแล้ว เป็นอย่างนี้ทุกที..
ลองเปลี่ยนวิธีใหม่ดีกว่า..เคล็ดลับการออม ก็คือต้องแยกบัญชีเงินออมออกจากบัญชีใช้จ่ายประจำโดยเด็ดขาดและต้องออมก่อน ใช้ทีหลัง
ไม่ใช่เงินเดือนออกมา ก็ใช้ก่อน เหลือเท่าไรค่อยเก็บออม รับรองไม่เหลือจ้ะ..
ถ้าตั้งใจจะเก็บเงินเดือนละ 1,500 บาท พอเงินเดือนออกก็เบิกเงินจำนวนนี้ไปใส่บัญชีแยกต่างหากไว้เลย และควรเป็นบัญชีเงินฝากประจำ หรือบัญชีที่ไม่มีบัตร ATM
และถ้าเก็บเดือนละ 1,500 บาทไม่ได้ ลองเก็บวันละ 50 บาทได้ไหม..?
หยอดกระปุกออมสินไว้ให้ครบเดือนแล้วค่อยเอาไปใส่ธนาคารก็ได้ เหมือนวิธีการของกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ที่ชาวบ้านเขาตั้งสัจจะเก็บเงินวันละบาทนั่นไง..
สำหรับคนที่ออมเงินได้อยู่แล้ว แต่เห็นว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารสมัยนี้มันต่ำเตี้ยเรี่ยดินนัก ก็ลองมองหาวิธีการออมในรูปแบบอื่น ๆ ที่มีให้เลือกมากมาย และให้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก รวมทั้งมีความมั่นคงสูงพอสมควร เช่น พันธบัตร หรือกองทุนต่าง ๆ เป็นต้น โดยแยกเงินออมออกเป็นหลาย ๆ ส่วน เพื่อกระจายความเสี่ยง
แต่ที่สำคัญ คือ ต้องเริ่มออมเสียแต่วันนี้ เพราะไอ้ที่มันยากก็ตอนเริ่มต้นนี่แหละ