วันจันทร์ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒

เศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน ตะโหมดยกพรุนายขาวเป็นต้นแบบ



เศรษฐกิจพอเพียง...ตามหลักปรัชญาของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นข้อมูลหนึ่งที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยกขึ้นเอ่ยในการประชุม เวทีเศรษฐกิจโลก 2009 ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งผู้นำหลายประเทศได้ให้ความสนใจ

ศาสตร์แห่ง แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ในบ้านเรามีการถ่ายทอดสู่สังคมเป็นวงกว้างแม้แต่สถาบันการศึกษา ก็มีการสอดแทรกเสริมความรู้เพื่อปลูกฝังเด็กและเยาวชนให้เกิดความตระหนัก

อย่างเช่น โรงเรียนบ้านพรุนายขาว ตำบลคลองใหญ่ อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง ซึ่งได้ดำเนินการตามแนวปรัชญาฯ จนประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมและได้รับรางวัลจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

อาจารย์เอก อัตตะ ผู้นำ โครงการเกษตรเพื่อชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เข้ามาสู่โรงเรียนบ้านพรุนายขาว บอกว่า...ได้แนะนำและสอนให้นักเรียนทุกคน ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ แล้วเอาผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูปไปขายนำรายได้ช่วยเหลือครอบครัว เพื่อ ปลูกฝังค่านิยมที่ดี ในการเรียนรู้ อาชีพการเกษตรพื้นฐาน และฝึกทักษะการปฏิบัติงาน ให้รู้จักหน้าที่รับผิดชอบ ตามรูปแบบของ ยุวเกษตรกร โดยนักเรียนทุก ช่วงชั้นการศึกษาต้องเข้ามามีส่วนร่วม

...เริ่มจาก ปลูกผักสวนครัว ซึ่งเป็นอาหารประจำวันของครอบครัว ให้นักเรียน ช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-ป.3) แบ่งเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 5 คน โดยกลุ่มที่ 1-2 ช่วยกันปลูก สะระแหน่ ผักชีฝรั่ง ผักน้ำ บัวบก และ ต้นหอม ส่วนกลุ่ม 3-5 ปลูกมะเขือ พริกขี้หนู ตะไคร้ ข่า และ ขมิ้น นักเรียน ช่วงชั้นที่ 2 (ป.3-6) แบ่งนักเรียนเป็น 10 กลุ่ม กลุ่มละ 5 คนเช่นเดิม กลุ่มที่ 1-2 ให้นำหน่อกล้วยมาคนละ 2 หน่อ แล้วปลูกภายในบริเวณรอบๆโรงเรียน หากตายลงก็นำมาปลูกเสริม กระทั่งออกผล ส่วนกลุ่มที่ 3-7 ให้ช่วยกัน ปลูกผักบุ้ง และ ผักกาด จำนวน 8 แปลง และกลุ่ม 8-10 ทำการเลี้ยงปลาดุก ในบ่อพลาสติก จำนวน 300 ตัว ทั้งยังผสมผสานด้วยการเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ซึ่งดัดแปลงมาจากถังเก็บน้ำฝนเดิม (ประหยัดต้นทุน) อีก 4 บ่อ บ่อละ 100 ตัว

อาจารย์เอก อัตตะ บอกอีกว่า สำหรับนักเรียน ช่วงชั้นที่ 3 (ม.1-3) ซึ่งเป็นเด็กที่โตแบ่งออกเป็น 10 กลุ่มกลุ่มละ 4 คน โดยกลุ่มที่ 1-2 ให้รับผิดชอบดูแล โรงเรือนเพาะเห็ด ที่บรรจุไว้จำนวน 200-300 ก้อน ในกลุ่มที่ 3-4 ให้ดูแล โรงเรือนเลี้ยงไก่ ที่มีขนาดกว้าง 9-15 เมตร มีไก่อยู่ 50 ตัว กลุ่มที่ 5 ใช้พื้นที่ว่าง สร้างบ่อกั้นพื้นที่เลี้ยงกบคอนโด จำนวน 80-140 ตัว กลุ่มที่ 6-8 ปลูกผักกูด จำนวน 2 แปลง โดยมีการเตรียมแปลงด้วยตนเอง ขุดหลุมตั้งเสาจำนวน 15 ต้น ใช้สแลนคลุมพื้นที่ นำผักกูดลงแปลงและติดตั้งสปริงเกอร์รดน้ำใช้เวลาประมาณ 6-7 เดือน จึงได้ผลผลิตเก็บไว้กิน ส่วนที่เหลือจึงออกวางจำหน่ายให้กับตลาดใกล้เคียง

และกลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มที่ 9-10 ได้ดำเนินการแปรรูปผลผลิตที่ได้จากทุกๆกลุ่ม เช่น การนำกล้วยมาแปรรูปเป็น กล้วยตากแห้ง, กล้วยฉาบ, มันฉาบ, ผลิตน้ำยาล้างจาน, ทำยาดมพิมเสนน้ำ, สบู่ และน้ำยาสระผมสมุนไพร อีกทั้งยังหาผลผลิตที่ออกมาจากกลุ่มต่างๆเพื่อแปรรูปเป็นสินค้าอื่นๆ ฯลฯ

เด็กหญิงสราญจิตร พูลสวัสดิ์ ตัวแทนนักเรียนโรงเรียนบ้านพรุนายขาว เผยว่า รู้สึกภาคภูมิใจในผลผลิตของเราเป็นอย่างยิ่ง จากการดำเนินงานในโครง-การนี้ ทำให้ได้รับการคัดเลือกเป็น โรงเรียนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ของอำเภอตะโหมด สังกัดสำนักงานเขต พื้นที่การศึกษาพัทลุง เขต 2 และได้รับการคัดเลือกจาก สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดพัทลุง เป็น โรงเรียนแกนนำของ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง

ที่ประทับใจอย่างยิ่ง โดยที่ไม่มีวันลืมเลยในชีวิตนี้ คือ ได้เป็น ตัวแทนของโรงเรียนเข้ารับพระราชทานรางวัลฯ ในงาน ชุมนุมยุวเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินระดับประเทศ ณ ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา.


ขอขอบคุณ ข่าวเกษตร หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่4 ก.พ. 52

ไม่มีความคิดเห็น: